วันอาสาฬหบูชา มีความสำคัญอย่างไรต่อพุทธศาสนา
วันอาสาฬหบูชา ประวัติความเป็นมาและความสำคัญต่อพุทธศาสนา วันอาสาฬหบูชาปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม 2561 โดยจะกำหนดจากวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุก ๆ ปี ซึ่งมักจะตรงกับเดือนกรกฎาคมหรือเดือนสิงหาคม แต่ถ้าในปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็ให้เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 8 หลังแทน
คำกว่า “เดือน 8 สองหน” คืออะไร
คำนี้เกิดมาจากการคำนวณวันตามปฏิทินแบบ “จันทรคติ” (ปัจจุบันพวกเราใช้สุริยะคติกันอยู่นะคะ) ปฏิทินจันทรคติจะใช้วิธีการนับเดือนจากพระจันทร์เต็มดวง (ข้างขึ้นและข้างแรมรวมกัน) 1 รอบจันทร์เต็มดวงเท่ากับ 1 เดือน
ซึ่ง 1 เดือนจะตามรอบจันทร์เต็มดวงคือ 29.5 วัน พอครบ 12 เดือน รวมกัน อ้าว งานเข้า จำนวนวันที่ได้คือ 354.37 วัน ซึ่งน้อยกว่า วันโคจรของพระอาทิตย์ใน 1 รอบปี (365วัน) พอสะสมกันนานๆ เข้า 3 ปี เอ้า! หายไป 33 วัน ก็เท่ากับหายไป 1 เดือนเลย
และปีที่ 3 นี้เอง ที่เราจะเรียกว่า “ปีอธิกมาส” นักปราชญ์โบราณได้สรุปการแก้ไขปัญหาปฏิทินจันทรคติไว้ดังนี้คือ
- ปีปรกติ (ปรกติวาร)มี 354 วัน (เพื่อแก้ปัญหา 1 เดือนมี 29.5 วัน)
แบ่งออกเป็น
….เดือนคู่ มี 30 วัน แบ่งเป็น ข้างขึ้น15 ข้างแรม 15
….เดือนคี่ มี 29 วัน แบ่งเป็น ข้างขึ้น15 ข้างแรม 14
- ปีอธิกวาร มี 355 วัน (เพื่อแก้ปัญหา เศษวันที่ขาดไปอีก 3.5 วัน)
….บวก 1 วันให้เดือน 7 เพิ่มอีก 1 วัน กลายเป็น 30 วัน แบ่งเป็น ข้างขึ้น15 วัน ข้างแรม 15วัน
- ปีอธิกมาส มี 384 วัน (เพื่อแก้ปัญหา เดือนขาดไป 1 เดือน โดยสะสมมาจาก 3 ปีก่อน)
….เพิ่มเตือน8 หนที่ 2 และถ้าหากปีไหนเพิ่มเดือน 8 แล้ว ก็ไม่ต้องไปบวกวันให้เดือน 7 อีก
ดังนั้นทุกๆ 2-3 ปี จึงต้องเพิ่มเดือนจันทรคติเข้าไปอีก 1 เดือน โดยให้เพิ่มที่เดือน 8 มีสองครั้ง เรียกว่าเดือน “แปดหน้าและแปดหลัง” หรือ “แปดสองหน” และให้ไปเริ่มเข้าพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ ของเดือนแปดหลังแทน
[ เกร็ดความรู้ : ปัญหาปีอธิกมาสนี้เอง ทำให้บางปีประเทศไทยเราเป็นประเทศเดียวในโลก ที่จัดวันวิสาขบูชาไม่ตรงกับประเทศอื่นๆเลย ]
วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์
การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ใน 5 ปัญจวัคคีย์ ประกอบด้วย โกณฑัญญะ, วัปปะภัททิยะ, มหานามะ และอัสสชิ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรมหรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา (เอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นชื่อเรียกวิธีบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในสมัยพุทธกาลยุคต้นๆ โดยพระพุทธเจ้าทรงประทานให้ด้วยพระองค์เอง โดยการตรัส) พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสาวกและภิกษุองค์แรกในโลก
และทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า “วันพระธรรม” หรือ วันพระธรรมจักร อันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และ “วันพระสงฆ์” คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และจัดว่าเป็น”วันพระรัตนตรัย” อีกด้วย
หากกล่าวโดยสรุปอ้างอิงตามประกาศสำนักสังฆนายก เรื่อง กำหนดพิธีอาสาฬหบูชาลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2501 สรุปได้ 4 เหตุกการณ์สำคัญดังนี้
- วันอาสาฬหบูชาเป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนาพุทธ
- เป็นวันแรกที่พระบรมศาสดาทรงแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์
- เป็นวันที่พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกบังเกิดขึ้นในโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ
- เป็นวันแรกที่บังเกิดสังฆรัตนะ มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ คือ มีทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์
ในวันอาสาฬหบูชาพุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ เช่น ไปวัดรับศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา ทำวัตรสวดมนต์ก่อนจะไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาประมาณ 20.00น. เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระคุณพระรัตนตรัย และสืบทอดประเพณีอันงดงามต่อไป